เชื่อว่าจนถึงตอนนี้ยังมีคนสับสนกับคำว่า Gigabit และ Gigabyte กันอยู่ไม่น้อย แม้สองคำนี้จะออกเสียงคล้ายกันแต่ความหมายของมันนั้นกลับต่างกัน รวมไปถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งานก็ต่างกันด้วย เพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ ทีมงาน OverclockZone จะมาไขข้อข้องใจให้ทราบครับ
Gigabit (กิกะบิต) และ Gigabyte (กิกะไบต์) รวมไปถึง Megabit และ Megabyte เป็นหน่วยวัดข้อมูลดิจิตอลทั้งคู่ ด้วยความที่มันเขียนคล้ายกันแถมยังอ่านออกเสียงคล้ายกันอีก แถมหลายคนยังอ่านออกเสียงแค่ “กิก” “เมก” แล้วยิ่งทำให้สับสนเข้าใจผิดกันไปใหญ่ จนเป็นที่มาของคำถามที่ส่งมาถามทีมงาน OverclockZone มากมายว่าทำไมเน็ตที่สมัครไว้ 20 เมก (Mbps) ถึงดาวน์โหลดข้อมูลได้เร็วแค่ 2.5 เมก (2.5 MB/s) หล่ะ ผู้ให้บริการโกงเราหรือเปล่า? หรือเราเตอร์ AC1200 ทำไมโยนไฟล์ในเครือข่ายได้เร็วแค่ 30 เมกเอง แปลว่ายี่ห้อนี้เชื่อถือไม่ได้ใช่ไหม? เชื่อว่าข้อมูลต่อไปนี้ น่าจะทำให้คุณกระจ่างมากยิ่งขึ้น
ทำความเข้าใจ Bit กับ Byte
Bit ย่อมาจาก binary digit คือลำดับชั้นของข้อมูลที่เล็กที่สุดและเป็นข้อมูลที่อยู่ในรูปของเลขฐานสองที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ นั่นก็คือ 1 และ 0 ซึ่งแทนคำสั่ง 2 อย่างคือ เปิด-ปิด (yes-no) และ จริง-ไม่จริง (true-false)
Byte เป็นคำที่ใช้เรียกจำนวนบิตที่มากขึ้น โดยข้อมูล 8 บิต จะเท่ากับ 1 ไบต์ โดย Werner Buchholz นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวอเมริกันได้นิยามคำว่า “Byte” ขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2499 ในระหว่างการพัฒนาชุดคำสั่งให้เครื่องคอมพิวเตอร์ IBM Stretch เพื่อแยกแยะความแตกต่างและป้องกันความสับสนกับคำว่า “Bit”
ทั้งนี้ จำนวน 1 บิต จะคิดเป็นเนื้อที่ที่คอมพิวเตอร์จัดไว้เพื่อเก็บข้อมูล 1 ตัวอักษร (ตามรหัสแอสกี) เช่น A, B, C, ก, ข, ค หรือจำนวนเต็ม 1 จำนวน หมายความว่า 1 ไบต์จะประกอบด้วยข้อมูลเลขฐานสองจำนวน 8 บิต ซึ่งก็คือที่มาของหน่วยวัดขนาดหน่วยความจำ หรือสื่อบันทึกข้อมูลว่าสามารถเก็บข้อมูลได้กี่ตัวอักษร เข้าใจง่ายๆ คือ
1 Byte (ไบต์) = 1 ตัวอักษร
1 KB (กิโลไบต์) = 1024 ตัวอักษร
1 MB (เมกกะไบต์) = 1024 KB
1 GB (กิกะไบต์) = 1024 MB
1 TB (เทราไบต์)= 1024 GB
ความแตกต่าง
เมื่อเราพูดถึงจำนวนบิตหรือไบต์ในปริมาณมากๆ สิ่งที่นำมาใช้ก็คือคำนำหน้าที่เป็นหน่วยนับตามระบบเมตริกซ์ ซึ่งก็คือ Kilo, Mega, Giga, Tera ที่เราคุ้นหูกันดี
แต่ที่อยากให้สังเกตเพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่าง บิต กับ ไบต์ คือตัวอักษรต่อท้าย โดยถ้าอักษรเป็นตัวพิมพ์เล็ก “b” จะหมายถึง “บิต” ในขณะที่ตัวพิมพ์ใหญ่ “B” จะหมายถึง “ไบต์”
ทั้งนี้ “บิต” จะนำไปใช้วัดอัตราการส่งผ่านข้อมูล เช่น แบนด์วิดธ์ของระบบเครือข่าย ความเร็วอินเทอร์เน็ต ความเร็วของฮาร์ดดิสก์, SSD, USB ซึ่งจะใช้หน่วยวัดเป็น Mbps (เมกกะบิต ต่อวินาที) หรือ Gbps (กิกะบิตต่อวินาที) อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในโฆษณาอินเทอร์เน็ต เช่น ระบุความเร็วไว้ที่ 200/50 Mbps เป็นต้น
ส่วน “ไบต์” จะเมื่อต้องการบอกปริมาณข้อมูล เช่น ขนาดไฟล์ ความจุของฮาร์ดดิสก์ เช่น Gigabyte, Terabyte, Petabyte ซึ่งโดยมากแล้วจะใช้ตัวย่อเป็น GB, TB, PB เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นลองดูตารางเปรียบเทียบระหว่างด้านล่างนี้ครับ
เรื่องน่ารู้ฝากท้าย
-
วิธีคำนวณหรือแปลงหน่วยบิตเป็นไบต์ เพื่อหาความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลคร่าวๆ (Mbps -> MB/s) ทำได้โดยการหารด้วย "8" เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็ว 200/50 Mbps เวลาใช้งานจริงก็ได้ความเร็วในการดาวน์โหลด/อัพโหลดสูงสุดในทางทฤษฎีประมาณ 25/6 MB/s (มากน้อยขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของการเชื่อมต่อและอุปกรณ์ต่างๆ ด้วย)
-
สังเกตไหมทำไมหน่วยที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ทำไมต้องลงท้ายด้วยเลขคู่ตลอด เหตุผลก็เพราะคอมพิวเตอร์รู้จักแค่เลขฐานสอง ส่งผลให้เราตัวเลขที่ใช้เลขสำหรับการนับจำนวนหรือปริมาณข้อมูลต่างๆ จะเป็นเลขที่คูณด้วยสองเท่านั้น ซึ่งก็คือ 2, 4, 8, 16, 32, 64, 128, 256, 512, 1024 ... นี่คือเหตุผลที่เราจะไม่แรมแฟลชไดรฟ์ที่มีความจุ 10 GB, 20 GB แต่จะเป็น 8 GB, 16 GB, 32 GB นั่นเอง
- ฮาร์ดดิสก์ ที่ระบุความจุเป็นหน่วย GB หรือ TB เช่น 500GB, 1TB แต่รู้ไหมว่าความจุที่แท้จริงอาจต่ำกว่าที่ระบุไว้เล็กน้อย ทั้งนี้ก็เพราะหน่วยความจุ GB ที่ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ใช้ คือ 1,000,000,000 ไบต์ ในขณะที่ระบบปฏิบัติการหลายตัวแสดงค่าความจุของดิสก์โดยใช้ค่า 1,073,741,824 ไบต์ (1024 x 1024 x 1024) ซึ่งเมื่อเรานำมาใช้จริง อาจเห็นตัวเลขความจุไม่ตรงกับฉลาก ยกตัวอย่างเช่น ฮาร์ดดิสก์ 500GB ในความหมายของผู้ผลิตคือ 500*1000*1000*1000 = 500,000,000,000 ไบต์ แต่สิ่งที่ระบบปฏิบัติการมองเห็นคือ 500*1024*1024*1024 = 536,870,912,000 ไบต์ หรือคิดเป็น 465.66GB (536,870,912,000-500,000,000,000 = 36,870,912,000 bytes) เท่ากับหายไป 34.34GB แบบนี้ก็ไม่ต้องตกใจหรือรีบเอากลับไปเคลมที่ร้านหล่ะ