อีกหนึ่งเราเตอร์ไร้สายแบบ Dual-band บนมาตรฐาน 802.11ax ที่เปิดตัวออกมาล่าสุดพร้อมๆ กับ RT-AC59U ที่เคยรีวิวไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเราเตอร์ ASUS RT-AX3000 ตัวนี้พกเอาฟีเจอร์การทำงานแบบครอบคลุมเอามากๆ ไม่ว่าจะเป็นการรองรับการทำ AiMesh, Personal Cloud, Printer Server, FTP Server, Download Master หรือ 3G/4G data sharing ผ่านพอร์ต USB 3.1 G1
การมาพร้อมกับเสาสัญญาณแบบถอดเปลี่ยนไม่ได้ 4 ต้น และรองรับการเชื่อมต่อ MU-MIMO แบบ 2x2:2 Spatial Streams ดังนั้นมันจึงเป็นเราเตอร์ไร้สายระดับกลางของทาง Asus ถึงอย่างนั้นมันก็มีฟีเจอร์สำคัญตามข้อกำหนดของ Wi-Fi 6 มาครบครันทั้ง OFDMA, Beamforming, 1024-QAM, VHT160 รวมถึงการทำ Smart Connect และ Ai Protection ที่จับมือกับ Trend Micro ตรงนี้ถือเป็นระบบรักษาความปลอดภัยที่ช่วยปกป้องเครือข่ายและอุปกรณ์ต่างๆ ได้จริงในระดับ Commercial-Grade ทำความรู้จักกันอย่างคร่าวๆ แล้วก็ไปดูข้อมูลทางเทคนิคอื่นๆ
Specification
- IEEE 802.11a/b/g/n/ac/ax, IPv4, IPv6
- 802.11ac: up to 867 Mbps
- 802.11ax (2.4GHz) : up to 574 Mbps
- 802.11ax (5GHz) : up to 2402 Mbps
- 1.5 GHz tri-core Processor
- 256MB Flash / 512MB RAM
- Broadcom BCM6750 Operate 2.4 GHz
- Broadcom BCM43684 Operate 5 GHz
จริงๆ ข้อมูลทางเทคนิคตรงนี้ยังไม่ถือว่าละเอียด แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่าที่จำเป็น ดังนั้นในกรณีที่คุณต้องการรับทราบคุณสมบัติอื่นๆ ในเชิงลึกอย่างพวกไฟร์วอลล์ การทำ VPN ตามลิงก์นี้ไปเลยครับ https://www.asus.com/Networking/RT-AX3000/specifications/
หน้าตาดูดี ช่องอากาศเยอะ
ถ้าจะบอกว่าหน้าตาของเราเตอร์ RT-AX3000 นั้นให้ความรู้สึกเหมือนกับยานรบอวกาศก็ไม่น่าจะผิดอะไร เสาสัญญาณทั้งหมดเองก็ดีไซน์ภายนอกออกมาทางเหลี่ยมๆ โดยส่วนตัวชอบดีไซน์ของบอดี้แบบนี้มาก นอกจากนั้นไฟสถานะต่างๆ ก็รายรอบอยู่ทางด้านหน้า และจากภาพจะมองเห็นช่องลมให้อากาศร้อนออกจากตัวเครื่องได้ระดับหนึ่ง
มาดูด้านล่างกัน ตรงนี้จะมองเห็นการออกแบบแอร์โฟลวที่ชัดเจนกว่า พื้นที่เกือบทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยตะแกรงถี่ๆ ตัวฐานหรือ Rubber feet ออกแบบให้ยกตัวสูงขึ้น เปิดองศาของฐานด้านข้างให้โล่ง เพื่อช่วยให้ลมไหลเข้าใต้เครื่องได้สะดวก นอกจากการวางแบบตั้งโต๊ะแล้ว ผู้ใช้สามารถติดแบบแขวนผนังได้ด้วย
ด้านท้ายของเครื่องมาพร้อมกับพอร์ต GbLAN 4 พอร์ต และพอร์ต USB 3.1 สำหรับการทำ Printer Sharing, File Sharing, 3G/4G Sharing ผู้ใช้สามารถเสียบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ยูเอสบีและตั้งค่าผ่านฟีเจอร์ AiDisk ส่วนปุ่มรีเซ็ทและปุ่ม WPS ก็อยู่ด้านท้ายนี้ทั้งหมด ไม่มีปุ่มปิดไฟสถานะที่อยู่ด้านหน้า
ติดตั้งง่ายด้วยแอพฯ Asus Router หรือเว็บอินเทอร์เฟซที่คุ้นเคย
การเริ่มต้นใช้งานเราเตอร์ RT-AX3000 นั้นทำได้ง่ายโดยใช้แอพฯ ASUS router app ที่มีให้ดาวน์โหลดทั้งฝั่ง iOS และ Android เนื่องจากจะมีคำแนะนำในการติดตั้งเราเตอร์เข้ากับโมเด็ม เช่นเดียวกับทางฝั่งเว็บอินเทอร์เฟซที่ใช้ดีไซน์นี้มาหลายมากแล้ว ดังนั้นเราคงไม่มีอะไรให้พูดถึงนัก และหากคุณเลือกใช้ภาษาไทยทุกอย่างก็เป็นเรื่องง่าย กระบวนการตั้งค่าทั้งหมดจนถึงการตั้งค่าเครือข่ายไร้สายแบบพื้นฐานให้ระบบพร้อมใช้งานก็ใช้เวลาราว 10 นาทีโดยประมาณ
การตอบสนองของเว็บอินเทอร์เฟซจะไม่ได้ราบรื่นเหมือนกับเราเตอร์รุ่นท็อปๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้รู้สึกหงุดหงิดแม้ในกรณีเข้าถึงด้วยสัญญาณไร้สาย การเปิดฟีเจอร์ AiDisk (FTP Server) การเปิดฟีเจอร์วิเคราะห์การรับส่งข้อมูล การเปิดฟีเจอร์ AiProtection นอกเหนือจากการตั้งค่าเครือข่ายไร้สายมาตรฐาน AX ทั้ง 2 ชุด (2.4 / 5GHz) และมีไคลเอนท์เชื่อมต่อ 3 ตัว (2xWireless / 1xGbLAN) ตัวเราเตอร์มีการใช้หน่วยความจำไปแล้ว 61% หรือ 312MB ซึ่งถือว่าเพียงพอในกรณีที่ต้องประมวลผลการทำงานเมื่อมีไคลเอนท์เข้ามาเชื่อมต่ออีก 4-5 ตัวอย่างน้อย
การตั้งค่าเครือข่ายไร้สายแบบทั่วไปสามารถเปิดใช้งาน Smart Connect ได้ การตั้งค่าพื้นฐานต่างๆ ก็ทำได้อย่างครอบคลุมทั้งการเลือกแบนด์วิดธ์ตั้งแต่ 20 - 160MHz หรือการเลือกแชนแนลตั้งแต่ 36-64 หรือจะเลือกอัตโนมัติก็ได้ รวมถึงเลือกใช้ช่องสัญญาณ DFS ของคลื่น 5GHz (ช่อง 5GHz ที่ใช้ในงานกับเรดาห์ตรวจอากาศ) ในส่วนของการตั้งค่าที่ละเอียดขึ้นก็มีไฮไลต์อย่างเช่น การเปิดใช้ MU-MIMO, OFDMA, Modulation Stream (สูงสุด NitorQAM/1024-QAM) รวมถึงฟีเจอร์ Beamforming นอกจากนี้ ยังเปิดใช้งาน Guest Network ได้อีก 6 เครือข่าย ความถี่ละ 3 เครือข่าย
เครือข่ายไร้สายที่ยกระดับประสิทธิภาพไปอีกขั้น
เราขอยกผลทดสอบของเราเตอร์ร่วมกับการ์ดไวร์เลส PCE-AX58BT ที่ส่งมาทดสอบคู่กัน ซึ่งจากตารางคุณจะเห็นว่า ค่าการเชื่อมต่อหรือการที่ไคลเอนท์เกาะกับเน็ตเวิร์ก AX-5GHz -160MHz นั้นทำได้ตามสเปค ขณะที่ค่าแบนด์วิดธ์หรือจะเรียก Throughput ก็ให้ค่าเฉลี่ยได้ดีเช่นกัน แต่ที่น่าพอใจมากจะเป็นเรื่องค่าการเชื่อมต่อและแบนด์วิดธ์ในห้องถัดไปที่ระยะห่าง 10 เมตร ตรงนี้มีกำแพงปูนกั้น 2 ชั้น ตัวไคลเอนท์ก็ยังคงเกาะกับสัญญาณได้ดีและให้ค่าแบนด์วิดธ์ได้ในระดับที่ดีด้วยทั้งแถบความถี่ 80MHz และ 160MHz ตรงนี้เรามองว่า เสาสัญญาณของเราเตอร์น่าจะเป็นแบบ Hi-gain มีแพทเทิร์นการกระจายสัญญาณในแนวระนาบที่ดี (Asus ระบุ Coverage ไว้ในหน้าเว็บเลยว่า “Large Home”)
การทดสอบด้วย iperf3 บนโทรศัพท์ iPhone 11 Pro max แสดงให้เห็นว่า ค่าแบนด์วิดธ์ในการส่งและรับข้อมูลของมาตรฐาน AX นั้นทำได้น่าประทับใจมาก ซึ่งนี่เป็นข้อดีของมาตรฐาน 802.11ax หรือก็คือ การอัพโหลดจากไคลเอนท์จะทำได้เร็วไม่แพ้การดาวน์โหลดมาจากฝั่งเราเตอร์เลย นอกจากนั้นในห้องถัดไปห่าง 10 เมตร มีกำแพงกั้นก็ยังมีค่าเฉลี่ยที่เกินว่า 300 Mbit/s แถมค่า Min ก็สูงเกินกว่า 256 Mbit/s ด้วย อย่างไรก็ดี นี่เป็นการทดสอบแบบ Single Client เท่านั้น
Conclusion
ว่ากันตรงๆ เราเตอร์ ASUS RT-AX3000 ถูกออกแบบมาให้เป็นศูนย์กลางเครือข่ายภายแบบครอบจักรวาล นอกจากมาตรฐาน AX ที่ให้ความเร็วได้ดีแล้วก็ยังมีฟีเจอร์หลากหลายผ่านพอร์ตยูเอสบี เช่นทำเซิร์ฟเวอร์ FTP, Personal Cloud ทำไฟล์แชร์ริ่ง หรือ Download Master ซึ่งตรงนี้ในกรณีของ FTP ผ่านสายแลนด์ทำความเร็วอ่านเขียนร่วมกับฮาร์ดดิสก์ภายนอกได้ราว 70-80 MB/s นอกจากนั้นก็มีพวกฟีเจอร์ป้องกันระบบเครือข่าย ควบคุมการใช้งานไคลเอนท์ คอนโซลรายงานปริมาณข้อมูลทั้งแบบรายอุปกรณ์และรายแอพฯ จัดสรรแบนด์วิดธ์อินเทอร์เน็ตหรือ QoS ที่สำคัญรองรับกับอุปกรณ์มาตรฐาน AC ได้เป็นอย่างดีด้วย อีกมุมหนึ่งจุดที่เรามองว่าเป็นข้อด้อยก็คือ เรื่องของแรมและชิปประมวลผลที่ดูด้อยไปสักนิด แต่จากการทดสอบหรือเปิดใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ มันก็ไม่ได้มีอาการล่าช้าให้เห็น อีกเรื่องก็คือ มันใช้เสาสัญญาณแบบ MIMO 2x2:2 นั่นหมายความว่า ในกรณีที่มีอุปกรณ์ 2 ตัวที่รองรับเทคนิคเสาสัญญาณนี้ อย่างโน้ตบุ๊ก wi-fi ax จำนวน 2 เครื่อง ความเร็วของเน็ตเวิร์กไร้สายก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ละเครื่องใช้เสารับส่งแยกกัน แต่ถ้ามีอุปกรณ์หลายตัวความเร็วในการสื่อสารก็จะลดต่ำลง (ไม่ควรเกิน 12 ตัว ออนไลน์พร้อมกัน) ถึงอย่างนั้นหากคุณใช้งานทั่วไปท่องเน็ต ดูภาพยนตร์ผ่าน Netflix หรือ Youtube ร่วมกับแพคเกจอินเทอร์เน็ต 200 Mbit/s ขึ้นไป รวมถึงอยู่ในระยะที่เราเตอร์สามารถส่งสัญญาณไปได้อย่างมีคุณภาพมันก็ไม่มีปัญหาอะไรให้หงุดหงิดกวนใจ
Price : 6,390 บาท
Special Thanks : ASUSTek Computer (Thailand) Co.,Ltd.