เวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) จัดประชุม “ข้าวยั่งยืนระดับโลกครั้งที่ 3” ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านวงการข้าวกว่า 240 คนทั่วโลกแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หวังขับเคลื่อนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม-สู้วิกฤตสภาพอากาศ ด้านกรมการข้าวเห็นพ้อง เดินหน้าจัดอบรมชาวนาไทย 45,000 รายใช้ให้มาตรฐาน SRP
นางสาวกุลศิริ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กล่าวภายในพิธีเปิด “การประชุมและนิทรรศการข้าวเพื่อความยั่งยืนระดับโลก ครั้งที่ 3 ประจำปี 2567” (3rd Global Sustainable Rice Conference and Exhibition 2024) ว่า กรมการข้าวได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของข้าว ซึ่งไม่เพียงแค่เป็นแหล่งอาหารสำคัญ แต่ยังเป็นหัวใจของวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของไทย เพราะข้าวเป็นส่วนสำคัญของสังคมไทยมานานหลายศตวรรษ ส่งเสริมการดำรงชีวิตของเกษตรกรหลายล้านคน รักษาวิถีชีวิตและชุมชน และที่สำคัญเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารไทย และภาคการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย
“กรมการข้าวมุ่งมั่นที่จะสนับสนุน SRP และเราภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้นำโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่มุ่งส่งเสริมข้าวยั่งยืนทั่วประเทศ โดยหนึ่งในโครงการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และดำเนินการร่วมกับ UNEP, GIZ และ SRP โดยในช่วง 4 ปีข้างหน้า โครงการนี้มีเป้าหมายที่จะอบรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าว 45,000 คนให้ใช้มาตรฐาน SRP” นางสาวกุลศิริ กล่าว
ดร.วิน เอลลิส ผู้อำนวยการ เวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) กล่าวว่า SPR ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อกระตุ้นการนำแนวทางที่ยั่งยืนและปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาใช้ในวงกว้างคือเป้าหมายหลักของ SRP ซึ่งเรื่องข้าวตั้งอยู่บนจุดตัดของสองความท้าทายระดับโลก คือ ระบบอาหารที่ยั่งยืน และการดำเนินการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง SRP มุ่งเน้นแนวทางที่เชื่อมโยงการดำเนินการด้านคาร์บอนและความต้องการของเกษตรกรรายย่อย ผ่านกรอบความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งการดำรงชีวิต ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และสิทธิของแรงงาน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ภายในที่ประชุม ได้มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยหัวหน้าด้านธุรกิจการเกษตร จากกลุ่มธนาคารโลก ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อ SRP สำหรับความก้าวหน้า ในการดำเนินการระดับโลก และรายงานความเน้นย้ำที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับภาคข้าวในกลุ่มผู้พัฒนาระดับโลก โดยทางธนาคารโลก เดินหน้าทำงานเพื่อใช้ประโยชน์จากการเงินทุนสนับสนุนและตลาดคาร์บอน เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงวงการข้าวไปสู่การปฏิบัติเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาเครื่องมือและนวัตกรรมด้านการเงินที่ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำมาใช้ในวงกว้าง พร้อมเสริมสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐและการลงทุนจากภาคเอกชนในระดับที่สูงกว่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
ขณะที่ผู้อำนวยการทั่วไปจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ซึ่งเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง SRP ได้กล่าวว่า SRP อยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญของการขับเคลื่อนระดับโลก สำหรับข้าวยั่งยืนในตลาดโลกกำลังพัฒนา เนื่องจากการผสมผสานของความต้องการด้านความมั่นคงทางอาหาร ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งจูงใจทางเศรษฐกิจสำหรับเกษตรกร ความชอบของผู้บริโภคที่ต้องการความยั่งยืน และการลงทุนอย่างต่อเนื่องในนวัตกรรมทางการเกษตร ทำให้มองเห็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับใหญ่ผ่านข้อปฏิบัติข้าวยั่งยืน และการสร้างเส้นทางสู่การลดคาร์บอนและการกักเก็บคาร์บอนปริมาณมหาศาล พร้อมกับการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และสังคม
นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนถึงวิธีการที่สมาชิกและพันธมิตรของ SRP ทั่วโลกใช้ในการส่งเสริมข้าวยั่งยืน โดยนำเสนอกรณีศึกษาระดับประเทศจากผู้อภิปรายจากทั่วโลก งานนี้ยังมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับข้าว SRP ชื่อว่า RiceTrace ยกระดับการดำเนินงานและรับรองมาตรฐานข้าวยั่งยืน และมีการเปิดตัวร่างมาตรฐานข้าวยั่งยืน SRP ฉบับ 3.0 เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น และรายงานความคืบหน้าในการพัฒนา SRP Low Carbon Assurance Module ร่วมกับพันธมิตรหลัก โดยมีเป้าหมายเพื่อวัดและตรวจสอบการลดก๊าซเรือนกระจกในการเพาะปลูกข้าวยั่งยืนด้วย
ทั้งนี้ การประชุมและนิทรรศการข้าวยั่งยืนระดับโลกครั้งที่ 3 ได้จัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) กรุงเทพมหานคร โดยเวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) ซึ่งรวบรวมผู้เชี่ยวชาญกว่า 240 คนจากทั่วโลกพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวงการข้าวทั่วโลก เพื่อขับเคลื่อนความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม ความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม โดยมีวิทยากรจากองค์การสหประชาชาติ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการวิจัย ภาคประชาสังคม พร้อมด้วยแทนจากหน่วยงานต่างๆในประเทศไทย เช่น กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ มูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ บริษัท แคปปิตอลไรซ์ จำกัด บริษัท ยูนิเวอร์แซล ไรซ์ จำกัด บริษัท อุทัย โปรดิวส์ จำกัด ร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความท้าทายในการปฏิบัติตามมาตรฐานข้าวยั่งยืน SRP รวมถึงโอกาสในการขยายการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยมาตรฐานข้าวยั่งยืนของ SRP เป็นมาตรฐานความยั่งยืนภาคสมัครใจสำหรับข้าวมาตรฐานแรกของโลก ซึ่งออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรตั้งแต่รายย่อยจนถึงรายใหญ่ นำแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในด้านการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ และยั่งยืน
การประชุมครั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความหลากหลายของโครงการที่ช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงวงการข้าวยั่งยืน โดยมีการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีสำหรับเกษตรกร เครื่องมือการลงทุนและการสนับสนุนทางการเงินในระดับท้องถิ่น และแนวทางความร่วมมือในการลดการปล่อยคาร์บอนในตลาดข้าวทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถบรรลุผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงข้อกำหนด กฎระเบียบ การเปลี่ยนแปลงของตลาด การรายงานความยั่งยืนขององค์กร และเครื่องมือทางการเงินที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตของวงการข้าวยั่งยืนด้วย
เกี่ยวกับเวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP)
เวทีข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform: SRP) เป็นความร่วมมือของหลากหลายองค์กรระดับโลก ประกอบด้วยสมาชิกสถาบันกว่า 100 รายจากภาครัฐ ภาคเอกชน การการวิจัย ภาคประชาสังคม และภาคการเงิน SRP ทำงานร่วมกับสมาชิกและพันธมิตรเพื่อมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั่วโลก ผ่านการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อย ลดผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากการผลิตข้าว และนำเสนอความมั่นคงในการจัดหาข้าวที่ผลิตอย่างยั่งยืนให้ตลาดข้าวโลก
SRP ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระบบริเวศข้าว (ทั้งในฟาร์มและตลอดห่วงโซ่คุณค่า) และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงตลาดโดยสมัครใจผ่านการพัฒนามาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน ตัวชี้วัด แรงจูงใจ และกลไกการเข้าถึงเพื่อส่งเสริมการนำแนวปฏิบัติที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศและยั่งยืนมาใช้ในวงกว้างในหมู่เกษตรกรรายย่อย