สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน จั่วหัวมาเป็นคีย์บอร์ดแบบแมคคานิคอลตั้งแต่แรก เรื่องราวก็คงหนีไม่พ้นอย่างอื่นไปไม่ได้แน่นอนครับ ซึ่งวันนี้เราก็จะมาบอกเล่าแนวทางการถอดคีย์สวิตช์ที่อยู่บนคีย์บอร์ดแบบแมคคานิคอล แต่จะถอดเพื่ออะไร ก็มีหลายสาเหตุได้ 1.เปลี่ยนคีย์สวิตซ์ เพราะเสียหรือใช้งานไม่ปกติ 2.เปลี่ยนรุ่นคีย์สวิตซ์ เพื่อให้ได้การใช้งานได้ตรงตามความรู้สึกตามความชอบนั้นเอง ซึ่งถ้าเราพอมีความรู้เบื้องต้นในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น มันก็สามารถทำเองได้ที่บ้าน โดยค่าอะไหล่ที่จะมาเปลี่ยนก็ไม่ได้แพงอะไรมากครับ
มันก็เป็นเรื่องที่ทำให้ผมต้องมาถอดเปลี่ยนคีย์สวิตซ์ คือผมได้ถอดคีย์แคปมาทำความสะอาด ถอดมาได้ 48 ปุ่มแล้ว พอถอดปุ่มที่ 49 เท่านั้นครับ ความฉิบหายบังเกิดขึ้นมาตามภาพ ได้นั่งพยายามยัดเข้าไปอยู่นานแสนนาน ก็สามารถกลับไปใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ปุ่มเจ้าปัญหามันให้ความรู้สึกในการกดที่ผิดแปลกไป ทั้งเสียงและน้ำหนักที่ใช้ มันไม่ใช่ Cherry Blue ที่ผมคุ้นเคย แต่ก็ทนใช้อยู่เกือบครึ่งเดือน เพราะยังไม่มีเวลาทำอะไรกับมันมาก
มาถึงอุปกรณ์หลักที่เราจะใช้ในการถอดคีย์สวิตซ์ ซึ่งมันก็คือเครื่องมือในการใช้ซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ หัวแร้ง, ที่ดูดตะกั่ว, ตะกั่วเชื่อม และ ถ้าให้ง่าย เตรียมน้ำยาประสานสำหรับบัดกรี แต่ผมไม่ค่อยชอบใช้เท่าไรครับ
นายแบบเจ้าปัญหาของเราในวันนี้คือ Razer BlackWindow Ultimate ซึ่งอายุมันยาวมากแล้ว ถ้าผมจำไม่ผิดมันคือ Version แรก ตั้งแต่ปี 2013 เราก็จับทำการแกะแยกชิ้นส่วน อย่างระมัดระวัง ถ้าไม่แน่ใจก็ถ่ายรูปเก็บไว้แต่ละขั้นด้วย จะได้เอามาไว้ดูเวลาประกอบกลับ เพราะประกอบมาอย่างแน่นหนามาก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีครับ บางแบรนด์ถอดออกมาประกอบกลับไปก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว
Razer BlackWindow Ultimate ตัวนี้ไม่สามารถใช้วีธีดึงคีย์สวิตซ์ออกมาได้ ต้องทำการบัดกรีเอาออกมาเท่านั้น
เราก็มาสำรวจเป้าหมายกันก่อน ว่าเราจะถอดคีย์สวิตช์ตำแหน่งไหนออกมา อันนี้ก็ต้องใช้สมาธิกันด้วย ส่วนผมก็ใช้วิธีนับต่ำแหน่งเอา
เสียบปลั๊กหัวแร้งให้ความร้อนปกติก่อน ทำการจี้จุดขาของคีย์สวิตช์ให้ละลาย โดยภาพต่อไปต้องเป็นขั้นตอนต่อเนื่องกัน แต่เนื่องจากผมทำเองถ่ายเองไม่มีคนช่วยถ่ายรูปให้
หลังจากตะกั่วละลาย ให้ใช้ที่ดูดตะกั่วมาทำการดูดตะกั่ว ซึ่งถ้ารอบแรกดูดออกไม่หมด ก็ทำซ้ำเรื่อยๆได้ครับ
ถ้าใช้ความร้อนที่เหมาะสม กับ การใช้ที่ดูดตะกั่วได้อย่างลงตัว มันควรจะออกมาประมาณนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้หัวแบบปลายแหลมจิ้มรูก็ได้ โดยทำให้ครบทั้งสองขา แต่ถ้าคีย์บอร์ดใครเป็นที่มีไฟ LED ต้องถอดขา LED ออกเพิ่มอีกสองจุด ซึ่งต้องดูเพิ่มเติมกันขณะทำเป็นรุ่นไป เพราะรุ่นใหม่ๆคีย์สวิตซ์เป็นแบบโปร่งแสง ไฟ LED วางที่ PCB ใต้กรอบของคีย์สวิตซ์
ก็จัดการงัดคีย์สวิตช์ออกมา ดึงขึ้นมาตรงๆ ถ้าเราดูดตะกั่วออกมาหมด มันก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ แต่ปัญหาสำคัญของตัวอย่างครั้งนี้คือ ขาหลอด LED ที่ดูดตะกั่วออกลำบากเท่านั้น ถ้าเป็นสวิตช์กรอบใสนี่ง่ายมาก หรือ แบบที่ไม่มี LED ถอดเปลี่ยนทุกปุ่มยังไหว
เมื่อถอดสวิตช์ออกมาแล้ว แต่ที่รูลงขาสวิตช์และหลอดไฟ ยังมีตะกั่วค้างอยู่ ทำให้ยากต่อการใส่กลับเข้าไป ก็สามารถใช้หัวแร้งจี้แล้วดูดตะกั่วได้ แต่อย่าใช้ความร้อนสูง เพราะเดียวลาย PCB มันจะร่อนหรือขาดได้
ส่องดูกันให้ดี ว่าช่องสำหรับการลงขามันไม่มีตะกั่วมาขัดขวางอะไรแล้ว อย่างที่บอกไปถ้าเป็นกรอบคีย์สวิตช์โปร่งแสง หรือ กรอบดำแต่ไม่มี LED นี่ง่ายมากครับ สรุปมันยากตรงหลอด LED เนี่ยแหละครับ
เตรียมคีย์สวิตช์ตัวใหม่ที่เราจะไปเปลี่ยนทดแทนของเดิม หรือ เปลี่ยนให้ได้สัมผัสที่แตกต่างกันไป ส่วนทางด้านหลอด LED ก็ร้อยลงไปตามเดิม แล้วก็ระวังเครื่องขั่ว +/- ด้วย
จัดการนำคีย์สวิตช์และหลอด LED เสียบขาลงช่องไปเหมือนเดิม กดลงให้แน่น ในภาพก็จะเห็นความสกปรกที่ซ่อนอยู่ใต้กรอบ ไหนๆรื้อมากันขนาดนี้ ก็จัดการทำความสะอาดให้เรียบร้อยครับ
ก่อนที่บัดกรีตะกั่วลงไป เช็คความเรียบร้อยของขาคีย์สวิตช์ และ หลอด LED ให้เรียบร้อย ว่าขามันลอดออกมาพ้นรูดีแล้วหรือยัง ถ้าเรียบร้อยก็จัดการใช้หัวแร้งจิ้มตะกั่วเชื่อมที่ขาทีละจุด
เมื่อตะกั่วเชื่อมกันระหว่าง จุดบน PCB และ ขาของคีย์สวิตช์กับหลอด LED เรียบร้อย เดี๋ยวเรามาลองใช้งานดูกัน รอยเชื่อมไม่ต้องไปสนใจความสวยงามอะไรครับ ขอให้มันเชื่อมติดกันดีก็พอครับ
อีกจุดที่ระวังก็คือพวกสายสัญญาณต่างๆ ที่มันอาจจะขาดหรือหลุดได้ เวลากลับด้านแต่ละครั้ง ยิ่งเกมมิ่งคีย์บอร์ดที่มีสายเต็มไปหมด ก็ควรช่วยประครองสาย ภาพที่เอามาให้ดูคือสายกราวด์ขาดครับ ก็จัดการเชื่อมกลับเข้าไปที่จุดเดิม
ก่อนประกอบกลับ ก็ทดลองใช้งานดู เน้นตรวจเช็คไปทางด้านปุ่มที่เราได้เปลี่ยนไปก่อน ซึ่งที่ผมทำมา เปลี่ยนมาสองปุ่มพิมพ์ ทางด้านคีย์สวิตช์และไฟ ติดใช้งานได้ตามปกติ หลังจากนี้ถ้าคีย์บอร์ดใครซกมก ฝุ่นเยอะ ก็จัดการทำความสะอาดให้เรียบร้อย
ประกอบกลับเข้าไปย้อนกลับตามที่รื้อออกมา ถ้าคีย์บอร์ดที่ทำใช้น็อตความยาวไม่เท่ากัน ก็ต้องมาใส่ใจเรื่องน็อตเพิ่มเติมครับ
ก็ต้องขอตัวไปเล่นเกมก่อนละกันครับ
Conclusion
วันนี้เราก็เป็นแนวทางในการจับคีย์บอร์ดแมคคานิคอล มาถอดคีย์สวิตช์....เพื่อ ซ่อมแซม หรือ ดัดแปลงเพื่อให้ตรงกับความต้องการของเรานั้นเอง อย่างในกรณีของคีย์สวิตช์ Cherry MX แต่ละสี ที่ให้อารมณ์การกด และ น้ำหนักที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่จำเป็นว่าทั้งคีย์บอร์ดจะต้องใช้คีย์สวิตช์ที่เหมือนกันทั้งหมด ที่เราสามารถเปลี่ยนได้ อย่างในกรณีเกมมิ่งคีย์บอร์ดหลายรุ่นก็มีคีย์สวิตช์ที่ไม่เหมือนกันทั้งหมด โดยทางเราก็ทำให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยนคีย์สวิตช์ ที่สามารถทำเองได้จากที่บ้าน แต่ก็ต้องมีความรู้พื้นฐานและอุปกรณ์เครื่องมือ โดยทางด้านคีย์สวิตช์นั้น ก็สามารถสั่งซื้อตามร้านออนไลน์หรือต่างประเทศนั้นเอง ที่ราคาของ Cherry MX เทียบจาก Blue กรอบดำราคาจะถูกกว่ากรอบโปร่งแสง ก็ต้องเลือกซื้อตามแต่ละรูปแบบของไฟ LED สำหรับวันนี้ก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ