ในการรีวิวสินค้าไอทีต่างๆ โดยเฉพาะที่มีพลังการประมวลผล สิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆก็คงจะเป็น Benchmark นี่แหละครับ เพราะมันสามารถทดสอบประสิทธิภาพออกมาได้อย่างเป็นกลาง ให้เห็นออกมาเป็นตัวเลขแบบเข้าใจง่ายๆ ประมาณว่าตัวเลขหรือคะแนนอันไหนดีกว่า ก็แปลว่าสินค้านั้นสามารถใช้งานได้ดีกว่าด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่น่าเชื่อถือเพราะว่าการทดสอบแต่ละครั้งนั้นเหมือนกันแทบจะ 100% แก้ปัญหา Human Error หรือความผิดพลาดของมนุษย์ออกไปได้
คอมพิวเตอร์ปัจจุบันก็มีการพัฒนาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมไปจากสมัยก่อนอยู่พอสมควร จนปัจจุบันนี้เราได้ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยประมวลผลแบบ Hybrid มี Core ทั้งในส่วนที่เน้นงานเล็กๆเพื่อการประหยัดพลังงาน และ Core ใหญ่ที่เน้นการประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ โดยแบ่งการทำงานกันให้ประสิทธิภาพโดยรวมนั้นดีมากขึ้นในทุกด้าน
และเพื่อให้การทดสอบ Processor รุ่นใหม่นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีที่สุด นักพัฒนา Benchmark ก็ต้องสร้าง Workload ออกมาให้เหมาะสมกับการใช้งานในยุคนั้นๆ อย่างเช่นที่ Primate Labs เปิดตัว GeekBench 6 ที่เป็น Benchmark ตัวใหม่เข้ามา ซึ่ง Benchmark ตัวนี้จะสามารถใช้งานได้ทั้งบน Windows, MacOS, Linux หรือแม้กระทั่ง Android ก็มีมาให้ด้วย เพราะเช่นนั้นผู้ใช้สามารถเทียบประสิทธิภาพข้าม Platform ได้เลย
การทดสอบของ Geekbench 6 นั้นออกแบบมาเน้นการทำงาน Machine Learning และการแบ่งหน้าที่ระหว่าง Core ของหน่วยประมวลผลทั้ง big และ little ใน CPU Hybrid รวมไปถึงการประมวลของ GPU เข้ามาได้ด้วย .. ในโหมดการทดสอบแบบ Multi-Core นั้น ตัว Benchmark เองจะมีการจำลอง workload ให้ true-to-life ใกล้เคียงมากที่สุดด้วย
หมวดในการทดสอบของ GeekBench 6 ก็จะประกอบไปด้วย - การจำลองเบลอพื้นหลังใน Video Conference, Photo Filters ตามที่เห็นใน Social Media ทั้งหลาย, การระบุวัตถุ (Object Detection) ในงานของ AI, Tag รูปภาพและ Metadata ใน Photo Library, Text processing ในการใช้งานเช่น Markdown และ Regrx ใน Python สำหรับ Developer, จำลอง Ray Tracing, Horizon Detection และ Navigation, Process HDR, Render PDF และอื่นๆที่เป็นงาน Multitask ทำงานไปพร้อมๆกันด้วย
จากที่ Workload ทั้งหมดนี้ซับซ้อนและมากกว่าเวอร์ชั่นก่อน ระยะเวลาในการ Benchmark ก็จะใช้เวลานานกว่าเวอร์ชั่นก่อนหน้าพอสมควรด้วยครับ อย่างเช่นที่ลองกับ MacBook Pro ที่มีชิป M1 Pro นั้นก็ใช้เวลาไปราว 3 นาทีเศษๆกว่าจะเสร็จ
ส่วนใครที่อยากรู้ว่าคะแนนแบบพื้นฐานควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ เราก็เอาข้อมูลมาให้ดูกันคร่าวๆครับ อย่าง Intel Core i7-12700 ก็จะมีคะแนน Single Core ที่ประมาณ 25xx แต่อันนี้ก็อย่าลืมไปว่าส่วนอื่นๆเช่นหน่วยประมวลผลกราฟฟิคก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ
ใครที่อยากลอง Benchmark ตัวใหม่นี้ อยากรู้ว่าคอมตัวเองจะทำประสิทธิภาพใน Workload สมัยใหม่ได้ประมาณไหน ก็สามารถเข้าไปโหลดได้จากทางหน้าเว็บของ Geekbench ได้เลยครับ