สวัสดีชาวโอเวอร์คล๊อกโซน หลังจากเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทางอินเทลได้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีของซีพียูในตลาดเมนสตรีมสำหรับเดสก์ท็อปใหม่ล่าสุดกับ 12th Gen Intel Core ในรหัสการพัฒนา Alder Lake โดยขบวนการผลิต Intel 7 ซึ่งอันที่จริงมันก็คือ 10 nm FinFET ที่ได้รับการพัฒนาขึ้น แน่นอนว่าการออกมาของ 12th Gen Intel Core กับการมุ่งเป้าพัฒนาซีพียูเกมมิ่งที่ดีที่สุด แต่อันที่จริงแล้วอินเทลต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่สำหรับคอมพิวเตอร์ในยุคถัดไปการยกเครื่องออกแบบใหม่ของซีพียูแบบ Hybrid Core ที่จะมี Performance core (P-core) และ Efficiency core (E-Core) ในตัวเดียวกัน กับซีพียูในสถาปัตยกรรม ARM เราคงเห็นกันมาพอสมควร แต่นี่คือครั้งแรกกับซีพียูสถาปัตยกรรม X86 จากที่แต่ก่อนนั้นเราคงจะคุ้นเคยกับคำว่า Multi–Tasking ซึ่งจะรองรับการประมวลหลายงานพร้อมกัน แต่ใน 12th Gen Intel Core จะเป็นการตอบโจทย์การทำงานหลากหลายงานพร้อมกันบนคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกันในรูปแบบของ Mega–Tasking เช่นการสตรีมเกม โดยเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นๆจะมีการเล่นเกม ,การเข้ารหัสพร้อมกับการบีบอัดวีดีโอ แล้วยังสามารถทำงานอย่างอื่นได้ในเวลาเดียวกัน เช่นการพิมพ์ตอบข้อความต่างๆ โดยเฟรมเรทการเล่นเกมยังออกมาไหลลื่นไม่แตกต่างจากการเล่นเกมอย่างเดียว หรือการทำกิจกรรมอื่นๆระหว่างรอ Encode ไฟล์วีดีโอ เช่นการเล่นเกม ,ชมภาพยนตร์ และอื่นๆ โดยประสิทธิภาพการประมวลผลของงานหลักนั้นยังสามารถประมวลผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่นั่งพิมพ์เอกสารไปพร้อมกับการเปิดเพลงฟังไปด้วยแบบ Multi–Tasking สมัยก่อน
เดี๋ยวเราพามารู้จักและเข้าใจหลักการพัฒนา พร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ของ 12th Gen Intel Core ในรหัสการพัฒนา Alder Lake
12th Gen Intel Core ในรหัสการพัฒนา Alder Lake ขบวนการผลิต Intel 7 เทคโนโลยี Hybrid Core ทางอินเทลได้สร้าง Threads Director เข้ามาทำงานร่วมกับ Windows 11 ,ประสิทธิภาพต่อความถี่สัญญาณนาฬิกา ที่จะสูงขึ้นกว่ายุคก่อนถึง 19% และ การทำงานแบบ Multi – Tasking สามารถได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีมากขึ้น
12th Gen Intel Core บนโน้ตบุ๊คในรหัสการพัฒนา Alder Lake รอปี 2022 ก็คงได้เจอกันในตลาด
Hybrid Core ที่จะมี Performance core (P-core) และ Efficiency core (E-Core) ในตัวเดียวกัน ระบบจะทำการจัดสรรงานให้เหมาะในการทำงานเวลานั้นๆ เพื่อประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงาน และ ประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุด
Threads Director เข้ามาทำงานร่วมกับ Windows 11จะมีการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยนึกคิดความสำคัญของงานทั้งหมด โดยแต่ก่อนแล้วหน้าที่การจัดสรรการประมวลจะเป็นหน้าที่ของระบบปฏิบัติการ ถ้าให้ระบบปฏิบัติการจัดการ งานสำคัญอาจะพลาดตกไปเป็นหน้าที่ของ E-Core แต่ Threads Director จะเป็นตัวกลางที่ช่วยจัดการหน้าที่นี้แทนระบบปฏิบัติการ เหมือนมีหัวหน้าทีม ที่มีความรอบรู้งานทั้งหมด เช่นเวลานี้นาย "Y" (P-Core 0) ต้องไปทำงานที่ 1 เป็นหลักไม่ต้องไปช่วยคนอื่น แล้วให้นาย "W" (P-Core 1) ไปทำงานที่ 2 แต่พอนาย "W" (P-Core 1) ทำงานไปได้บางส่วน หัวหน้าก็สั่งให้นาย "X" (E-Core 0) ที่ประสบการณ์น้อยกว่านาย "W" (P-Core 1) มาทำงานแทน เพื่อให้นาย "W" (P-Core 1) ไปทำงานชิ้นที่ 3 ที่มีความสำคัญมากว่างานชิ้นที่ 2 อารมณ์ความคิดผมออกมาได้ประมาณนี้ สรุปตามที่ได้นั่งอ่าน แล้วทำความเข้าใจในเรื่อง Threads Director
ระบบแคช L3 หรือ Smart Cache ขนาดใหญ่ เพื่อให้ทั้ง Core-P และ Core-E ใช้งานร่วมกัน รวมไปถึงแคชระดับที่ 2 สำหรับ Core-P ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้ประสิทธิภาพการประมวลผลทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนแคช L1 และ L2 จะมีเป็นของส่วนตัวทั้ง P-Core และ E-Core
เทคโนโลยีใหม่ที่ใส่เข้ามาในยุค 12th Gen Intel Core สำหรับเดสก์ท็อป หรือ Alder Lake-S สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนกับเทคโนโลยี DDR5 และ PCIe 5.0 นอกจากนั้นทาง Intel ได้มีการปรับปรุงในส่วนของ I/O บนชิพเซ็ต พร้อมกับรองรับเมโมรี DDR4 ทางด้านการใช้งานเต็มที่กับประสบการณ์การใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ เช่น WiFi6E ,Thunderbolt 4 และ อื่นๆ
การเชื่อมต่อ PCIe 5.0 ใส่เข้ามาบนซีพียู 16 เลน จะเป็นคอนฟิก 16 และ 8+8 เท่านั้น ทางด้านของเมโมรี DDR5 ติดตั้งแบบ Dual Channels (สองแผง) ความเร็วเริ่มต้น 4800Mhz และ Dual Channels (สี่แผง) 3600Mhz ย้อนกลับมากับการใช้งานร่วมกับแรม DDR4 ความเร็วเริ่มต้น 3200 Mhz
ในการใช้งานร่วมกับ SSD NMVe PCIe 5.0 มีความจำเป็นต้องใช้การ์ดติดตั้ง SSD เพิ่ม เท่ากับกว่าต้องโดนแบ่งเลนการเชื่อมต่อของกราฟฟิกการ์ดไป ไหนๆก็ไหนๆแล้ว ติดตั้งเอาให้คุ้ม สองตัวเลย จะได้ไม่เสียเลนเปล่าๆ
ในส่วนของชิพเซ็ต Intel 600 Series ที่จะมีการเพิ่มเข้ามาของเทคโนโลยี PCIe 4.0 พร้อมกับจำนวนเลนให้มากขึ้น จุดที่น่าสังเกตคือ USB 3.2 Gen 2x2 20Gbps จะใส่เช้ามาในชิพเซ็ต Intel 600 Series ซึ่งผมได้เขียนเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงหน้าเว็บ
12th Gen Intel Core ที่พลังการประมวลผลในการทำงาน นั้นจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขึ้นกับโปรแกรมการใช้งานนั้นๆ
ในกรณีที่แย่ที่สุดสำหรับ Software หรือ เกมเก่าๆ ที่ยังไม่มีการออกอัพเดต อาจไปจับประมวลผลที่ E-Core แต่ ประสิทธิภาพมันยังคงสูงกว่า 10th Gen Intel Core ตามหลักการออกแบบแล้วมันคือตัวเดียวกัน แล้วไม่มี AVX512 เหมือนกับ P-Core
การประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ก็เป็นสิ่งที่ทางอินเทลให้ความสำคัญ 12th Gen นั้นถ้าเทียบประสิทธิภาพการประมวลที่เท่ากัน 12th Gen จะใช้พลังงานที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับ 11th Gen
Turbo Core ที่เข้ามาช่วยเสริมการใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า เมื่องานนั้นๆ ไม่มีความนำเป็นต้องใช้สัญญาณนาฬิกาที่สูงในการประมวลผลแล้ว ก็ลดความถี่ลงมา เพื่อการใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า
จากภาพคือตัวอย่างที่เราทำให้เข้าใจกับ Mega–Tasking มากขึ้น คอมพิวเตอร์ยุคนี้การใช้งานหรือการทำงานมากกว่า 1 งาน
ตัวอย่างเปรียบเทียบการเล่นเกมพร้อมกับการสตรีม ซึ่ง 12th Gen Intel Core สามารถเล่นเกมที่เฟรมเรทสูงกว่า 11th Gen Intel Core ได้อย่างชัดเจน
รูปแบบการประมวลผลในงานด้านการแต่งภาพและการตัดต่อวีดีโอ ที่ Hybrid Core เข้ามาเสริมการทำงานได้ในมุมของประสิทธิภาพและการใช้พลังงานได้อย่างคุ้มค่า เป็นการดึงประสิทธิทรัพยากรทั้งระบบมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ การใช้พลังงานคุ้มค่าที่สุด
รูปแบบการประมวลผลในการทำงานแต่งภาพและการตัดต่อวีดีโอ เปรียบเทียบกันระหว่าง 12th Gen Intel Core และ 11th Gen Intel Core จะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพในการประมวลผลที่ 12th Gen Intel Core ทำออกมาได้ดีมากขึ้น
ในการทำงานด้านต่างๆ ถ้า Software สามารถดึงประสิทธิภาพการประมวลผลได้เต็มที่ 12th Gen จะเหนือกว่า
ข้อสังเกต 12th Gen Intel Core กระดองหนาขึ้นเพื่อการกระจายความร้อนได้ดีมากขึ้น โดย Die จะมีความหนาที่ลดลง
การโอเวอร์คล็อกของ 12th Gen Intel Core จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เห็นได้ชัดเจนสามารถปรับ BCLK ได้ ซึ่งช่วยเพิ่มความที่สุดในระดับสถิติโลกได้ง่ายขึ้น ถ้าแข่งรถทุก 1 แรงม้าก็มีความสำคัญ คอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน ความถี่สัญญาณนาฬิกาทุก 1 Mhz ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน มากกว่าแค่ 1 Mhz อาจชนะได้ในการแข่งขัน Overclock ได้เลย (พูดจากประสบการณ์ที่ตัวเองเคยไปแข่งขันทั้งในไทยและต่างประเทศ)
ในแง่ของการปรับแต่งการโอเวอร์คล็อก ที่จะมีความละเอียดและความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าเทียบกับหนังสือเรียนสมัยยุค 90 ,2000 และ 2010 มันจะมีจุดแตกต่างกันพอสมควร
การโอเวอร์คล็อกด้วยเครื่องมือจาก Intel เองกับ Intel XTU ที่สามารถปรับแต่งได้อย่างละเอียด พร้อมกับรองรับการโอเวอร์คล็อกได้ดีมากขึ้น ยุคผมโตมากับการปรับ Dip Switch และ Bios เจอจูน Software ยังสู้ชาวบ้านเค้าไม่ค่อยได้นัก
ในส่วนของเมโมรี DDR5 นอกจากหลักการแล้วถ้าพูดง่ายมันเป็น Dual Channels ภายในแผงเดียวกัน ที่จะมีเทคโนโลยี XMP 3.0 ดูจากชื่อมันก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิมเท่าไร แต่แค่ปรับไฟเพื่อการโอเวอร์คล็อก แรมไฟเลี้ยงมีจุดที่ต้องปรับมากขึ้น อีกทั้งยังมีการย้าย IC ควบคุมการจ่ายไฟมาสู่ที่เมโมรีโมดูล ซึ่งแต่ก่อนการควบคุมไฟเลี้ยงจะเป็นหน้าที่ของเมนบอร์ด
เปรียบเทียบจุดของความแตกต่างระหว่าง XMP1.0 – 3.0 สิ่งที่ผมถูกใจคือ เขียนโปรไฟล์เองได้เนี่ยแหละครับ ถูกใจสุดแล้ว แต่มันก็เป็นดาบสองคม ที่การเขียนโปรไฟล์ลงไปโดยที่เมโมรีโมดูลไม่สามารถทำงานได้อย่างไม่มีเสถียรภาพที่แท้ทรู อาจสร้างความปวดหัวได้เช่นกัน
สำหรับการเปิดตัวและทำตลาดของ 12th Gen Intel Core จะมีแต่ Core i5 ,Core i7 และ Core i9 เท่านั้น โดยโมเดลที่ออกมาจะมีแต่ K (Unlock) และ KF (Unlock + Non GPU) ไม่มีฮีทซิงค์ใดๆ สำหรับ Core i7 ที่เรายังไม่ได้มาทำการทดสอบพร้อมกัน จะมี P-Core ที่ 8C 16T เท่ากับ Core i9 ส่วนท่างด้าน E-Core ที่ Core i7 ละลงมาที่ 4C 4T ครับ ส่วน 12th Gen Intel Core ในโมเดลปกติ Non-K และ F (Non GPU) จะมีชุดระบายความร้อนมาให้ จากหน้าที่ มีโอกาสได้แอบเห็นเอกสารมา ทางอินเทลก็ได้อัพเกรดชุดระบายความร้อนในกล่องได้ดีมากขึ้น มีทั้งแบบ RGB ,LED และ แบบบาง ปีหน้าก็รอชมได้
12th Gen Intel Core
มาเริ่มเข้าเรื่องการทดสอบ 12th Gen Intel Core กันดีกว่า โครงสร้างของแกน Alder Lake ถ้าเรามองภาพนั้นจะเห็นได้ว่ามันจะเป็นแบบ Hybrid Core ที่มี Performance core (P-core) และ Efficiency core (E-Core) เป็นอีกหนึ่งยุคที่ทาง Intel ต้องการยกเครื่องการใช้งานและการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ในยุคถัดไป ที่ทาง Intel ได้ส่ง 12th Gen Intel Core ในรหัสการพัฒนา Alder Lake ในรุ่น Core i9 และ Core i5 มาให้ได้ลงทดสอบให้ชมในวันนี้
Intel® Core™ i9-12900K Processor ที่รองรับการโอเวอร์คล็อก ความถี่สัญญาณนาฬิกาสูงสุดที่ 5.1 GHz และ Turbo Boost Max 3.0 ที่ 5.2 Ghz มีแกนประมวลผล 16 คอร์ (8 P-Core + 8 E-Core) / 24 เธรด พร้อมกับแคชระดับที่ 3 หรือ Intel Smart Cache ที่ 30MB
Intel® Core™ i5-12600K Processor ที่รองรับการโอเวอร์คล็อก ความถี่สัญญาณนาฬิกาสูงสุดที่ 4.9 GHz แต่จะไม่มี Turbo Boost Max 3.0 เหมือน Core i9 และ Core i7 มีแกนประมวลผล 10 คอร์ (6 P-Core + 4 E-Core) / 16 เธรด พร้อมกับแคชระดับที่ 3 หรือ Intel Smart Cache ที่ 20MB
รูปแบบแพ็คเกจ LGA1700 ถ้าไม่นับที่ขนาด รูปแบบลักษณะของแพ็คเกจก็ไม่ได้แตกต่างจาก LGA1200-115X ที่เราคุ้นตากันดี
เปรียบเทียบระหว่าง LGA1700 ที่มีขนาดรูปทรงที่สูงกว่า LGA1200 โดยทางด้านกระดองของ LGA1700 จะสูงกว่าครับ
อย่างในกรณีของเมนบอร์ด ROG-ASUS ที่รู PCB จะออกแบบมาให้สามารถติดตั้งชุดระบายความร้อน LGA1200-115Xได้ด้วย ในส่วนตัวที่ทดลองใช้งานมา ควรระมัดระวังการติดตั้งให้มากขึ้นในการขันยึดแบบกระจายแรงกดทั้ง 4 มุมให้ดี ผมนี่ถึงขั้นเอาลงกระจาย มุมละ 1 mm จนรู้สึกแน่น
ส่วนชุดน้ำหรือฮีทซิงค์ที่รองรับ LGA1200 และ 2066 ในขาล็อกเดียวกันได้ พอมีทางออก ในกรณีชุดน้ำปิดที่ใช้พื้นฐานการออกแบบจากของ Asetek ที่แผ่นรองด้านหลังมันจะเลื่อนได้อิสระอยู่แล้ว แต่ที่ขาชุดบล็อกต้องตะไบหรือกลึงติ่งตรงกลางระหว่าง LGA1200-2066 ออก ก็ใช้งานได้ไม่มีปัญหาอะไร
เปรียบเทียบกันระหว่าง Core i9 และ Core i5 ค่า TDP 125 Watt เท่ากันทั้งคู่ นอกจากความเร็วแล้ว จำนวน P-Core และ E-Core ก็มีความแตกต่างกันออกไป โดย P-Core จะมีเทคโนโลยี Hyper Threading แต่ E-Core จะไม่มี Hyper Threading
รายละเอียดจาก AIDA64 สามารถแจ้งได้ชัดเจนในแง่ของ P-Core และ E-Core
กราฟฟิกภายในที่ 12th Gen Intel Core จะถูกใส่ Intel UHD 770 ซึ่งมันก็คือพื้นฐานเดียวกับ Intel Iris Xe Graphics ที่สามารถเล่นเกมได้ดีมากกว่าการเล่นเกมฆ่าเวลา ถอดรหัสดีดีโอได้เทียบเท่ากับการ์ดจอเกมมิ่งราคาแพง ตัดงานวีดีโอด้วยฟุจเทจระดับ 8K ได้สบาย
System Setup
- Memory : G.Skill Ripjaws S5 DDR5 5200Mhz 32GB
- VGA : ASUS TUF Gaming GeForce RTX3060
- CPU Cooler : ROG Ryujin II 240
- SSD : Kingston NV1 1TB
- PSU : ROG THOR 1200 Watt
- OS : Windows 11 Pro
บรรยากาศขณะการทดสอบ
Performance Test
ใช้งานในพื้นที่ไม่เปิดแอร์
การใช้งาน 12th Gen Intel Core ในห้องที่ไม่มีแอร์ ถ้าเป็น Core i5 รหัส K จะเป็นฮีทซิงค์ประสิทธิภาพสูง หรือ ชุดน้ำ 2 ตอน เท่าที่ลองนั้นไม่มีปัญหาอะไร ใช้งานได้สบาย เพราะความร้อนจากการทำงานไม่สูงมากนัก ส่วน Core i9 แนะนำว่าเป็นชุดน้ำปิด 3 ตอนน่าจะใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพมากกว่า ถ้าเป็นชุดน้ำปิด 2 ตอน ในห้องไม่เปิดแอร์ โดยส่วนตัวผมว่ามันเต็มกลืนไปนิด ที่พูดมานี่หมายถึงถ้าต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผลสูงสุด
Overclocking
มาพูดถึงการโอเวอร์คล็อกกันบ้าน ซึ่ง 12th Gen Intel Core จะมีความละเอียดในการปรับแต่งมากขึ้น BLCK กับ PCIe แยกกัน ปรับกันได้ง่ายไม่ต้องกลัวการ์ดจอและอุปกรณ์ออนบอร์ด (เช่นแลนและอื่้นๆ) ลาโลก เอาเป็นว่าถ้าพอมีความรู้ในการโอเวอร์คล็อกอยู่แล้วมานั่งทำความเข้าใจกันหลายๆจุดกันใหม่หมด ลองลากๆเดาๆ ปรับมั่วไปแบบกลัวซีพียูลาโลก ประมาณ 5.4-5.5 แบบ All Core ไปได้ ถ้าระบบระบายความร้อนดีพอ ในระดับสถิติโลกที่มีผลโชว์ออกมาล่าสุด เค้าลากกันไประดับ 8 Ghz แล้วครับ
การโอเวอร์คล็อกในระดับขาโหดที่ E-Core นั้นเหมือนตัวถ่วงถ้าจะมาสายนี้ ซึ่งถ้าเล่นเอาระดับสถิตินั้นปิด E-Core ไปเลยง่ายกว่าครับ มองภาพง่าย E-Core เหมือนเป็นซีพียูอีกหนึ่งตัวที่ทำงานแยกกับ P-Core
ถ้าจะมาโอเวอร์คล็อกแบบใช้งานจริงจังก็สามารถทำได้ มานั่งไล่จูนจุดความเร็วแต่ละจุดไปเลย จะได้ทั้งประสิทธิภาพและการใช้พลังงานให้คุ้มค่าไปในเวลาเดียวกัน ถ้ากะใช้ยาวๆ นั่งจูนทีเดียวจบ
ในส่วนของการลาก BCLK นั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ Memory Cache L1-L3 ได้น่าสนใจ ในภาพจะเห็นได้ว่าผมลดตัวคูณ CPU และ Cache ลง ให้ความถี่สัญญาณนาฬิกาใกล้เคียงกัน ซึ่งอันที่จริงผมจูนให้ทั้ง P-Core และ E-Core ความเร็วใกล้เคียงมาตรฐาน แต่ Cache ความเร็วต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยซ้ำ เพราะมันบูตไม่ติด ติดก็จอดำ ก็ไม่แน่ใจว่าผมยังจูนอะไรไม่ถูกจุดหรือเปล่า เพราะนั่งลองเล่นมั่วๆไปเรื่อย ยึดพื้นฐานที่บัสแรมใกล้เคียงกัน โดยส่วนตัวเครื่องที่ผมใช้ทำงานจริง สมัยก่อนชอบลากบัส 3XX ใช้งาน 24/7 เดี๋ยวนี้ก็ลากซีพียูกันนิดๆหน่อยๆ เพราะมันแรงอยู่แล้ว แต่ไปเค้นบัสแรมสูงๆ และ Uncore (Cache) โหดๆ เปิด 24/7 แล้วเสถียร ใช้งานเนียนๆไม่มีปัญหาอะไร
การโอเวอร์คล็อกแรม DDR5 ยังเป็นเรื่องใหม่มากนักสำหรับผม แค่ปรับไฟลากเบื้องต้นยังเอ๋อ เพราะแค่ไฟเลี้ยงแรม มันไม่ได้ปรับเพียงค่าเดียว นี่เป็นแรม DDR5 ลับ ที่มีผู้ส่งมาให้ผมทดลองเล่น ยังไม่มีวางขายตลาดโลก (ตอนที่ผมนั่งเขียนบทความนี้) ก็ลากกันไปที่บัส 6400 Mhz ใช้งานจริงระดับ 24/7 ไม่มีปัญหาอะไร
ยังค้างคาใจ
ส่วนตัวเล่นเป็นแต่เกมขับรถ เกมประเภทอื่นนั้นไม่ถนัดมาก แต่สิ่งที่ยังคงค้างคาใจกับ 12th Gen Intel Core คือประสิทธิภาพในการเล่นเกม ที่ตามทางอินเทลได้บอกว่า 12900k นั้นเล่นเกมได้ประสิทธิภาพที่สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งผมก็ได้ยืมเครื่องซีพียูตามชาร์ทของเพื่อนมาทดสอบเปรียบเทียบดู เช่นเกม Far Cry 6 ที่ผมได้ทดลองนั้น ไม่ได้ต่างกันเลย จากข้อสังเกตของผมและเด็กเนิร์ดคอมพิวเตอร์ที่ทำงานด้านพัฒนาซอร์ฟแวร์ คาดว่าเวอร์ชั่นเกมที่อินเทลใช้ทดสอบแล้วดึงประสิทธิภาพ Hybird Core ให้การเล่นเกมประสิทธิภาพสูงกว่า นั้นอาจอยู่ในระดับ Alpha หรือ Beta ยังไม่ใช่เวอร์ชั่นที่คนทั่วไปสามารถโหลดมาเล่นได้
ข้อสังเกตสุดท้าย
ในกรณีบาง Software ที่จะยังคงไม่สามารถจับทั้ง P-Core และ E-Core มาใช้งานพร้อมกันได้ ตัวอย่างในภาพเป็น Prime95 เป็นโปรแกรมที่ผมชอบนำมาใช้ในการทดสอบ Full Load ซีพียูตั้งแต่สมัยผมยังเรียนหนังสือ ซึ่งสมัยก่อนผมเวลาโอเวอร์คล็อกซีพียูมักจะใช้ Full Load ซีพียูทิ้งไว้ทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้แน่ใจว่ามันเสถียรหรือไม่ ซึ่งกับการใช้งานร่วมกับ 12th Gen Intel Core มันจะไม่สามารถจับ E-Core ได้ จับได้แต่ P-Core ที่เป็น 8 คอร์ 16 เธรด หักล้าง E-Core 8C 8T ก็มองไม่เห็นครบถ้วนยกชุด
Conclusion !
ซีพียูตัวแรงแห่งยุคกับ 12th Gen Intel Core หรือ Alder Lake นอกจากประสิทธิภาพความแรงในรูปแบบ Single Thread และ Mulit Threads ที่ 12th Gen Intel Core สามารถทำออกมาได้ดีสมกับที่ไปขิงชาวบ้านเค้าไปทั่ว การประมวลผลที่สลับซับซ้อนได้แรงสะใจในกลุ่มตลาดเมนสตรีม พร้อมกับการปูพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ในยุคถัดไปกับการใช้งานแบบ Hybrid Core ที่มี Performance core (P-core) และ Efficiency core (E-Core) เป็นครั้งแรกสำหรับซีพียูสถปัตยกรรม X86 ซึ่งซีพียูสถาปัตยกรรม ARM ถ้าเอาจับต้องได้ง่าย คงจะเป็นในกลุ่มสมาร์ทโฟนฝั่งแอนดรอย ที่เค้ามีไปถึง Ultra-Core ใน SoC ระดับเรือธง การพัฒนายกเครื่องใหม่ของ Hybrid Core ที่ทางอินเทลได้มองข้ามการใช้งานแบบ Multi–Tasking มาสู่ Mega–Tasking ที่เป็นการใช้งานคอมพิวเตอร์ของคนยุคสมัยใหม่ ที่ไม่ได้เน้นใช้งานเพียงงานเดียว อาจเป็นการทำงานพร้อมกันหลายงาน เช่นการสตรีมเกม ที่คนขาย Capture card อาจน้ำตาซึมได้ ลำพังแค่ Core i5 ยังสามารถเล่นเกมไปพร้อมกับการสตรีมมิ่งยังทำได้ไหลลื่น หรือ การเล่นเกมรอระหว่างการ Encode วีดีโอต่างๆ พร้อมการปูพื้นฐานเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Memory DDR5 และ PCIe 5.0 เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกที่อินเทลได้ใส่ของใหม่กับแพลตฟอร์มเมนสตรีม โดยปกติแล้วอินเทลจะใส่การรองรับแรมชนิดใหม่กับแพลตฟอร์มไฮเอนด์ หรือ HEDT อย่างเช่นยุค Intel X99 ที่ใช้ DDR4 ก่อนหน้า Intel Z170 ถึงประมาณ 1 ปี ถ้ามองกันที่แพลตฟอร์ม Alder Lake-S ที่เปิดตลาดด้วยชิพเซ็ต Intel Z690 โดยอินเทลยังคงเน้นที่ประสบการณ์ใช้งานในยุคสมัยได้เป็นอย่างดี ซีพียูแรงอย่างเดียวไม่พอ I/O (Input Output) การใช้งานต่างๆ อินเทลได้ผลักดันผู้ผลิตเมนบอร์ดให้ใส่การใช้งานต่างๆเข้ามาอย่างครบเครื่อง แต่โดยส่วนตัวแล้วการเล่นเกมเวลานี้ 12th Gen Intel Core ยังคงไม่เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนทั้งการเทียบกับอินเทลด้วยกันเอง หรือ คู่แข่งที่ไปขิงเค้าไว้ ข้อสังเกตุคงต้องรอการอัพเดทตัวเกมเวอร์ชั่นใหม่ๆหลังจากที่ 12th Gen Intel Core เปิดวางแผงอย่างเป็นทางการ ใครที่กำลังตัดสินใจอัพเกรดมาใช้ 12th Gen Intel Core เนื่องจากเป็นยุคเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ยังมีทางเลือกของเมนบอร์ดที่ใช้เมโมรี DDR4 และ เมนบอร์ดที่ใช้เมโมรี DDR4 หรือ DDR5 บนเมนบอร์ดเดียวกัน ถ้ามองในความคุ้มค่า 12th Gen ในรุ่น Core i5 การใช้งานทั่วไป การประมวลผลที่ไม่หนักมาก มีเวลาที่จะรองานหน่อย (ถ้าเทียบกับ Core i9) และ การเล่นเกม ถือว่าตอบสนองได้เป็นอย่างดี เอาเป็นว่าจ่ายโดยรวมถูกกว่า Core i9 Gen 10-11ลำพัง Core i5 ก็ทำออกมาได้โดดเด่นมากถ้าเทียบกับงบประมาณ แต่ถ้าต้องการซีพียูที่รองรับการประมวลผลที่ซับซ้อน ตอบโจทย์ Mega–Tasking ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือการใช้งานอื่นๆ ที่มีงบประมาณในกระเป๋าสูงๆ ก็เลือกที่ Core i9 สำหรับวันนี้ผมก็ต้องขอลากันแต่เพียงเท่านี้ สวัสดีครับ
Special Thanks : INTEL (THAILAND)